หน้าแรก >> “งานนวัตกรรมล้ำค่า สืบสานหัตถกรรมล้านนา รังสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น” วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เวลา 13.30 -16.30 น. ณ ห้องรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่


“งานนวัตกรรมล้ำค่า สืบสานหัตถกรรมล้านนา รังสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560  เวลา 13.30 -16.30 น.

ณ ห้องรัฐมนตรี  มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

 

นายศร  ศรีไสยเพชร  นายกสโมสรคณะสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าคณะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเป็นประธานการจัด“งานนวัตกรรมล้ำค่า สืบสานหัตถกรรมล้านนา รังสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น” วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2560  เวลา 13.30 -16.30 น. ณ ห้องรัฐมนตรี  มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชา ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการปกครองท้องถิ่น (Local Wisdom and Local Government) ซึ่งรับผิดชอบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช  สุทัศน์ ณ อยุธยา ที่มุ่งหวังให้นักศึกษาได้เรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและอิทธิพลของภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน /เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความตระหนักและส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการเสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น /เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าใจและศึกษาหาแนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ตลอดจนการพัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และมีความเข้าใจถึงแนวนโยบายของรัฐกับการเสริมสร้างและอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน นอกจากนี้ยังคาดหวังว่านักศึกษาจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตประจำวันและนำไปใช้ได้กับชีวิตการทำงานในอนาคต งานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ ชวสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการนำเสนอคลิปวีดีโอที่นักศึกษาลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เรื่องราวการทำงานศิลปะสร้างสรรค์ ต่อยอดธุรกิจด้วยภูมิปัญญาที่เกิดจากการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์จากแรงบันดาลใจของผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่านคือ

  • นางชิสา เกษวีรภัทร์กุล  ที่รู้จักกันในนาม “ป้าอี๊ด บ้านป่าบง สารภี” เจ้าของเฮือนซอมพอ  เลขที่  51 หมู่ 1 ตำบลป่าบง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่  เจ้าของรางวัลชนะเลิศ (Gold Award) สินค้าหัตถกรรมสร้างสรรค์ “งานสานศิลป์ ถิ่นหัตถกรรมบ้านถวาย” จัดโดย กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2558 ณ ลานโปรโมชั่น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่

  • นายวีระชัย  เจือสันติกุลชัย หรือ อาจารย์เล้ง อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่มีดีกรีจบปริญญาโท จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลาออกจากงานที่รัก เพื่อมาสร้างสรรค์งานที่รักยิ่งกว่า ที่เกิดจากแรงบันดาลใจ กล่าวได้ว่า CM Music Box เป็นโปรเจ็คเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในฤดูหนาว พ.ศ. 2550 โดยเจตนาให้เป็นทั้งสตูดิโอและเวิร์คชอปเพื่อใช้ในการออกแบบและผลิตกล่องดนตรีและตุ๊กตากลไก (Music Boxes and Automata — Mechanical Dolls) แรงบันดาลใจเกิดจากการไปเยี่ยมชม“เมืองโอทารุ”เมืองเล็กๆทางตอนเหนือของเกาะฮ็อกไกโด ในประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่อาจารย์เล้งเป็นเขยของชาวญี่ปุ่น กลายเป็นแรงผลักดันให้ต้องค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูล จนกระทั่งเป็นความหลงใหลในศาสตร์และศิลป์ของการผลิตกล่องดนตรี ปัจจุบันอาจารย์เล้ง เป็นเสมือน CEO ของบริษัท ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี อินเตอร์เนชันแนล เลขที่ 116 ถนนท่าแพ ซอย 3 ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิตกล่องดนตรี “มิวสิค บอกซ์” (Music Box) ซึ่งเป็นธุรกิจมุ่งดีไซน์ผสมความคิดสร้างสรรค์ พร้อมขยายตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ  ผลงานชิ้นเอกคือ บทเพลงแห่งความระลึกถึง ในรูปแบบกล่องดนตรีล้ำค่า ร่วมกับ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งมอบให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แก่  ต้นไม้ของพ่อ ; เหตุผลของพ่อ ; ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป

 

25 เมษายน 2560


ผู้ประกาศข่าว : ศูนย์สื่อสารองค์กร ประกาศข่าวเมื่อ : 25 เมษายน 2560
| |